Home บทความ ที่อยู่อาศัยขยายออกไปชนกับเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิม

ที่อยู่อาศัยขยายออกไปชนกับเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิม

หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่หลากหลายจนหลายๆ ครั้งเกิดคำถามว่าทำไมอสังหาริมทรัพย์บางประเภทถึงได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับอสังหาริมทรัพย์บางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากการรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าผู้ที่พักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียมมีปัญหากับวัดข้างเคียงเรื่องการใช้เสียงหรือการตีระฆังทั้งๆ ที่วัดอยู่มานานหลายสิบปี โครงการคอนโดมิเนียมเพิ่งจะสร้างได้ไม่นาน และการตีระฆังหรือกลองของวัดก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างถูกต้องแล้ว เรื่องแบบนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหารุนแรงเพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของบุคคล เมื่อเวลาผ่านไปก็จบ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นก่อความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินรวมไปถึงความมั่นใจหลายๆ อย่างแบบเหตุการณ์โรงงานระเบิดที่กิ่งแก้วก็เป็นเรื่องที่สร้างความสับสนกันได้เช่นกันว่าทำไมมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านี้สัก 30 – 40 ปี พื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงโกดังเก็บสินค้ากระจายอยู่โดยทั่วไป ทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม หลายโรงงานและโกดังสินค้าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีผังเมืองเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น จึงมีโกดังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีผังเมืองบังคับใช้ ซึ่งเมื่อมีผังเมืองบังคับใช้แล้ว ผู้ที่มีส่วนในการออกแบบผังเมืองจึงพยายามตีกรอบให้โรงงานที่มีอยู่แล้วเหล่านั้นเป็นเขตอุตสาหกรรมไป รวมไปถึงการตีกรอบให้ชุมชน พื้นที่พาณิชยกรรมเป็นเขตพื้นที่ผังเมืองสีต่างๆ ตามที่เห็นในผังเมืองของแต่ละจังหวัด และในหลายๆ พื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสีผังเมืองกันต่อเนื่องเช่นกัน เพราะด้วยการขยายตัวของเมืองปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง

พื้นที่สองฝั่งของถนนกิ่งแก้วในอดีตเป็นที่ดินสีม่วงหรือพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมตามข้อกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2537 เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรม โกดังสินค้าอยู่หลายแห่งในพื้นที่ รวมไปถึงมีหลายโรงงาน และหลายโกดังสินค้าที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ตามข้อกำหนดผังเมืองรวมซึ่งเป็นโรงงานและโกดังสินค้าที่มีมาก่อนที่จะมีผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2537 (โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ก่อตั้งปีพ.ศ.2532) แต่ผังเมืองจะมีข้อยกเว้นว่าสามารถพัฒนาหรือดำเนินกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุในผังเมืองได้ 10% ของที่ดินในพื้นที่ ดังนั้น จึงมีหลายโรงงานที่ก่อตั้งมาก่อนที่ผังเมืองฉบับปีพ.ศ.2537 จะบังคับใช้อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดินโล่งๆ โรงงานอุตสาหกรรมและโกดังสินค้าจำนวนมากจึงนิยมมาตั้งโรงงานกันที่นี่ เพราะการเดินทางเพื่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะมีโรงงานที่ทำธุรกิจด้วยกันอยู่นั้นสะดวกกว่า แต่ด้วยการขยายตัวของเมือง ความต้องการที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าเริ่มถูกควบคุมมากขึ้น และพยายามผลักดันให้โรงงานที่จะตั้งใหม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ผังเมืองกำหนดหรือย้ายเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่โรงงานหรือโกดังสินค้าที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วยังคงสามารถดำเนินกิจการได้อยู่เช่นเดิม แต่จะขยายหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมากไปกว่าที่มีมาไม่ได้ และไม่สามารถสร้างโรงงานและโกดังสินค้าได้ใหม่อีกแล้ว

ผังเมืองรวมสมุทรปราการเองก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสีผังเมืองในหลายๆ พื้นที่รวมไปถึงพื้นที่ทั้งสองฝั่งของถนนกิ่งแก้วที่เห็นได้ชัดเจนในผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2544 ที่เปลี่ยนจากพื้นที่สีม่วงที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมมาเป็นสีแดงหรือที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์เพื่อพาณิชยกรรมและต่อเนื่องมาถึงผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2556 ดังนั้น จึงมีโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่เดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่ที่ผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ.2544 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีมากขึ้นในพื้นที่ปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร และการเปิดให้บริการของสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ จึงมีผลต่อเนื่องให้พื้นที่ตามแนวถนนกิ่งแก้วกลายเป็นพื้นที่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมากมายในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา  และผู้ซื้อหรือผู้ที่เลือกซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ก็ไม่ได้คิดอะไรในการที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ในลักษณะนี้ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าอยู่ในพื้นที่แล้วเริ่มมีโครงการที่อยู่อาศัยเข้าไปในพื้นที่ยังมีอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร เช่น พื้นที่ตามแนวถนนพระรามที่ 3 ที่มีโกดังสินค้าหลายแห่งริมถนนด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงพื้นที่ริมถนนสุขสวัสดิ์ และถนนราษฎร์บูรณะ เป็นต้น

เรื่องนี้ไม่มีใครทำผิดกฎระเบียบผังเมืองใดๆ เพียงแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้วก็ว่ากันไปตามกฎหมายในเรื่องอื่นๆ ต่อไป และคงมีผลต่อเนื่องในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ เพราะคงมีไม่น้อยที่อาจจะเปลี่ยนทำเลหรือเลือกทำเลอื่นๆ ทดแทนไปก็เป็นไปได้ การแก้ปัญหาในระยะยาวอาจจะเป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้โรงงานต่างๆ ย้ายไปในเขตพื้นที่ที่เมาะสมหรือย้ายเข้าไปนิคมอุตสาหกรรม โดยแรงงจูงใจอาจจะเป็นเรื่องของการยกเว้นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ เพราะโรงงานเหล่านี้ต้องเสียเงินในการสร้างโรงงานใหม่ และการขนย้ายเครื่องจักรอีกด้วย แต่สิ่งที่อาจจะทำได้ง่ายดายกว่าคือ ผู้ประกอบการโครงการที่อยู่อาศัยอาจจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีลักษณะนี้ เนื่องจากผู้ซื้อส่วนหนึ่งคงยังไม่ลืมเหตุการณ์นี้ไปในช่วงเวลาสั้นๆ แน่นอน