Home บทความ กระแสเงินสดกับการประกอบธุรกิจ

กระแสเงินสดกับการประกอบธุรกิจ

ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องมีกระแสเงินสดในบริษัทที่มากพอสมควร

เพราะค่าใช้จ่ายรายเดือน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการมีมากมาย

ซึ่งในภาวะที่โครงการต่างๆ ขายดี หรือมีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องมีการเปิดขายโครงการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อรักษากระแสเงินสดให้เกิดการหมุนเวียน

แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาในเรื่องของเงินทุนหรือกระแสเงินสด การหยุดการก่อสร้าง ลดพนักงาน ลดการเปิดโครงการใหม่

และทยอยขายที่ดินจะเป็นสิ่งที่เห็นได้พร้อมๆ กันจากผู้ประกอบการที่มีปัญหา เพื่อเป็นการสร้างรายได้เข้ามาหมุนเวียนในบริษัท และเป็นการลดรายจ่ายลงแบบทันทีทันใด

ซึ่งสถานการณ์ของการขาดกระแสเงินสดอาจจะไม่ได้เกิดในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น

แต่อาจจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แล้วผู้ประกอบการเปิดโครงการพร้อมกันมากเกินไป จนบางโครงการขายไม่ได้ และทำให้กระแสเงินสดติดขัด หรือเปิดขายโครงการด้วยเงินจากธนาคารในสัดส่วนที่มากเกินไป

และไม่สามารถใช้คืนสินเชื่อธนาคารได้ตามกำหนด จนถึงขั้นโดนธนาคารยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้สิน จากนั้น โครงการที่เหลือก็ไปต่อไม่ได้ เพราะคนขาดความเชื่อมั่นไปแล้ว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นความเชื่อมั่น แต่ก็จะไม่สามารถสร้างกระแสได้แบบก่อนหน้านี้

ช่วงของสถานการณ์โควิด-19 สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะในรายเล็ก รายกลางที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์

เพราะเงินทุนหมุนเวียนหรือกระแสเงินสดอาจจะขาดมือ แต่หาช่องทางในการระดมทุนได้ยาก

การออกหุ้นกู้สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์อาจจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ และได้เงินรวดเร็วมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะสูง และเมื่อผิดนัดชำระหนี้สินก็สร้างความเสียหายได้แบบทันที

เนื่องจากผู้เสียหายมีหลายคน ไม่เหมือนกับการขอสินเชื่อธนาคาร แต่ธนาคารในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็เข้มงวดไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการง่ายๆ เงื่อนไขในการพิจารณามากขึ้น วงเงินที่ให้สินเชื่อก็ลดลง และมีข้อบังคับต่างๆ มากขึ้น

การออกหุ้นกู้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุด แต่ก็เห็นผู้ประกอบการหลายรายที่มีปัญหาเพราะหุ้นกู้

เนื่องจากไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายเงินเมื่อครบกำหนดได้ ดังที่เป็นข่าวทั้งในต่างประเทศ และประเทศไทย

สาเหตุหลัก คือ การขาดกระแสเงินสด หรือไม่มีรายได้เข้าบริษัทในช่วงที่ผ่านมา และถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้วมีปัญหาในเรื่องของกระแสเงินสดก็แสดงว่าไม่สามารถออกหุ้นกู้หรือระดมทุนเพิ่มเติมได้อีกแล้ว

เพราะขาดความน่าเชื่อถือ หรือมีปัญหาเกิดขึ้น แบบที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนมีปัญหาก่อนหน้านี้ ต้องหาทางสร้างกระแสเงินสดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือหานักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม