Home บทความ พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ (หมอชิต – คูคต)

พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ (หมอชิต – คูคต)

พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ (หมอชิต – คูคต)

เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้มากกว่า 20 – 30 ปีแล้ว

โดยเฉพาะในพื้นที่รอบๆ ห้าแยกลาดพร้าวต่อเนื่องขึ้นไปถึงสี่แยกรัชโยธิน เสนานิคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากนั้นจะเป็นส่วนของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ พื้นที่ทหาร และวัดพระศรีมหาธาตุ

รวมไปถึงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาอาคารเพราะอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง

พื้นที่ที่อาจจะมีการพัฒนาเป็นชุมชนมาก่อนหน้านี้ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับพื้นที่แถวๆ สี่แยกรัชโยธิน คือ พื้นที่แถวสี่แยกหลักสี่ขึ้นไปถึงสะพานใหม่

เพราะมีตลาดสดขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัย รวมไปถึงเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่

และไม่ไกลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบ

ช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 เป็นต้นมา จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางมากกว่าก่อนหน้านี้

โดยช่วงก่อนปีพ.ศ.2558 อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตามแนวเส้นทางบ้าง แต่จะกระจุกตัวอยู่แค่เพียงบางพื้นที่เท่านั้น เช่น พื้นที่รอบๆ ห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน สะพานใหม่ และคูคต

แต่หลังจากปีพ.ศ.2558 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่อื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม เพราะพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางนั้นมีราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูง

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องยาวนาน แทบหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ได้ยากมาก และพื้นที่ส่วนหนึ่งมีข้อจำกัดในการพัฒนา เพราะอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทหาร และสนามบินดอนเมือง

ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บางประเภท บางรูปแบบ

ดังนั้น จึงแทบไม่เห็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางเลย ยกเว้น โครงการคอนโดมิเนียม

ราคาที่ดินที่ปรับขึ้นมามากกว่าเท่าตัวจากก่อนหน้านี้ บางพื้นที่เช่น รอบๆ ห้าแยกลาดพร้าวราคาที่ดินขึ้นไปมากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อตารางวาแล้ว รัชโยธินก็มากกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาแล้วเช่นกัน

ในขณะที่รอบๆ วงเวียนหลักสี่ก็ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งมีผลต่อการตั้งราคาขายคอนโดมิเนียมในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

คอนโดมิเนียมในพื้นที่ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถ้าเป็นโครกงารที่ติดกับถนนพหลโยธินล้วนมีราคาขายที่มีมากกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตรไปแล้ว

หลายโครงการมีราคาขายมากกว่า 150,000 บาทต่อตารางเมตร แม้ว่าจะเป็นโครงการที่เปิดขายมาก่อนหน้านี้ 3 – 4 ปีแล้วก็ตาม

ผู้ประกอบการเข้ามาเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่มากขึ้นแบบชัดเจนตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 โดยมีจำนวนที่มากกว่า 5,000 – 6,00 ยูนิตต่อปีในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2560 – 2561

จากนั้นก็ลดลงเพราะภาวะตลาดชะลอตัว และสถานการณ์โควิด-19 ในปีพ.ศ.2563 – 2564

โดยการที่ผู้ประกอบการเข้ามาเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงปีพ.ศ.2560 – 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ

ซึ่งเปิดให้บริการช่วงปลายปีพ.ศ.2563 จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 เป็นต้นมา

ในพื้นที่ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าห้าแยกลาดพร้าวต่อเนื่องขึ้นไปถึงสถานีคูคตมีจำนวนรวมทั้งหมด 22,120 ยูนิต โดยประมาณ 69% เป็นโครงการที่เปิดขายก่อนปีพ.ศ.2562 และอีกประมาณ 22% หรือกว่า 4,800 ยูนิตเปิดขายในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.2565

แม้ว่าจำนวนคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้จะมีไม่น้อย แต่อัตราการขายของคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ก็ไม่น้อย หรือมากกว่า 85% แม้ว่าจะมียูนิตเหลือขายบ้าง แต่ก็กระจายอยู่ในหลายพื้นที่

และคาดว่าจะปิดการขายได้ในอีกไม่นาน เพราะโครงการเปิดขายใหม่ไม่ได้มากมายหรือมีต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่คงไม่มีอะไรมาก นอกจากจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีการพัฒนามาต่อเนื่องนานแล้ว อาจจะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นก็เพียงบางพื้นที่เท่านั้น เช่น

พื้นที่ระหว่างห้าแยกลาดพร้าว และสี่แยกรัชโยธินที่มีที่ดินขนาดใหญ่ 2 แปลง คือ ที่ดินแดนเนรมิตเก่า 33 ไร่ และที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัลประมาณ 48 ไร่ที่รอการพัฒนาอยู่ หรือที่ดินในทำเลอื่นๆ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เพราะศักยภาพของที่ดินเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็คงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแค่ในพื้นที่ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวขึ้นไปถึงรอบๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น

ถ้าเลยขึ้นไปที่อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นพื้นที่ตั้งแต่สี่แยกหลักสี่ถึงคูคต เพราะพื้นที่บางส่วนที่หายไปติดขัดในข้อจำกัดในการพัฒนาทั้งในเขตทหาร และเรื่องของข้อจำกัดความสูงรอบสนามบินดอนเมือง

ช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 เป็นต้นมา พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสายหยุด สะพานใหม่เริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้น

ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ เพียงแต่พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ อาจจะมีโครงการเปิดขายใหม่ต่อเนื่องมาโดยตลอดเท่านั้น