Home บทความ กรุงเทพมหานครจ้องที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแบบปลอมๆ

กรุงเทพมหานครจ้องที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแบบปลอมๆ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา มีการประชุมของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

โดยหัวข้อในการประชุม คือ การพิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม

โดยเน้นไปที่ผังเมืองในโซนสีต่อไปนี้ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า

ถ้าเจ้าของที่ดินในพื้นที่โซนผังเมืองสีที่กล่าวไปแล้วมีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นการเกษตรกรรม เช่น การปลูกล้วย มะม่วง มะนาว หรือต้นไม่ชนิดอื่น รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์

เพราะไม่ต้องการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราของที่ดินรกร้างว่างเปล่า และเสียภาษีที่ดินฯ ในอัตราที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

ซึ่งทางกรุงเทพมหานครมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพ และต้องการเก็บภาษีที่ดินฯ ในอัตราสูงสุดแบบเต็มเพดานของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม คือ 0.15% หรือเพิ่มขึ้น 15 เท่าจากอัตราเดิมที่ 0.01 – 0.1% (ตามมูลค่าที่ดิน)

โดยผลของการพิจารณาออกมาแล้วว่า ในเบื้องต้นไม่สามารถดำเนินการตามที่กรุงเทพมหานครต้องการได้

เนื่องจากคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นการเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งอาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่ประกาศและบังคับใช้ไปแล้ว 

และอาจจะเกิดความลักลั่นของการบังคับใช้กฎหมายได้

อย่างไรก็ตามหากทางกรุงเทพมหานครยังต้องการจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป ก็ต้องส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้ตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่

หรือกรุงเทพมหานครจะปรับอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในกรุงเทพมหานครให้เพิ่มแบบเป็นขั้นบันไดก็ได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้กรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ สามารถทำได้อยู่แล้ว เช่น ปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% อาจจะปรับเป็น 0.02-0.15% เป็นต้น

ซึ่งดูแล้วทางกรุงเทพมหานครคงยังไม่จบง่ายๆ แน่นอน ยังต้องติดตามต่อไป