การเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟฟ้ามีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร เพราะราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ถ้านับในระยะยาว 20 ปีที่ผ่านมาปรับเพิ่มเกินกว่า 1 – 2 เท่าไปแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านใจกลางเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร
เพราะความต้องการที่ดินของผู้ประกอบการเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาที่ดินแพงขึ้น เจ้าของที่ดินอาจจะตั้งราคาขายแพง แต่สุดท้ายคนที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นคือ
ผู้ประกอบการที่ตกลงซื้อที่ดินในราคาแพง จนมีผลต่อเนื่องให้ราคาที่ดินที่บอกขายกันต่อมาต้องปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อราคาที่ดินแพงขึ้นรูปแบบของโครงการที่จะเกิดขึ้นบนที่ดินราคาแพงก็มีน้อยลง
เนื่องจากมีเพียงคอนโดมิเนียมเท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนพัฒนาโครงการได้ และราคาขายของคอนโดมิเนียมที่พัฒนาบนที่ดินก็ต้องแพงขึ้น
เพราะว่าต้นทุนที่ดินเป็นสัดส่วนกวา 20 – 30% ของมูลค่าในการพัฒนาโครงการทั้งหมด
ช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 เป็นต้นมา เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร หรือราคาประมาณ 7 ล้านบาทต่อยูนิตเปิดขายมากขึ้น
และหลังจากนั้นช่วงปีพ.ศ.2558 เป็นต้นมา จำนวนของคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 250,000 บาทต่อตารางเมตร หรือมากกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตรมีจำนวนมากขึ้นแบบชัดเจน
ซึ่งโครงการเกือบทั้งหมดนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในพื้นที่เมืองชั้นใน รวมไปถึงในพื้นที่รอบสวนลุมพินีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราคาที่ดินสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อยู่แล้ว
และพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความโดดเด่นในเรื่องของจุดขายที่ชัดเจนแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เช่นเดียวกับพื้นที่รอบสวนลุมพินี