คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครจะอยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ปัจจัยหนึ่งคือ ราคาที่ดินที่สูงเกินกว่าจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ
การพัฒนาที่ดินเป็นโครงการคอนโดมิเนียมเป็นเทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
อีกทั้ง โครงการคอนโดมิเนียมก็จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเลือกเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร
ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเท่านั้น
โดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ.2558 – 2560 ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่เส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทางยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
เส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง เช่น สายสีเขียวตอนเหนือ สายสีน้ำเงิน สายสีแดง และสายสีทอง
ทยอยเปิดให้บริการในช่วงปีพ.ศ.2563 – 2564 พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจึงมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น
จึงอาจจะดูเหมือนว่าจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว
มีจำนวนที่ลดลงและไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่ที่เหลือของกรุงเทพมหานคร
แต่ในความเป็นจริง โครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมากเปิดขายในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว
แต่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางที่ไกลออกไปจากใจกลางกรุงเทพมหานคร
จำนวนคอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วในกรุงเทพมหานคร
โดยจากจำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557
พบว่าคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วอยู่ประมาณ 212,500 ยูนิต
โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในช่วงก่อนปีพ.ศ.2561
แม้ว่าในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 เป็นต้นมา จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และเส้นทางใหม่เปิดให้บริการอีก 3 – 4 เส้นทางก็ตาม
แต่ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ตลาดคอนโดมิเนียมอยู่ในช่วงชะลอตัวพอดี
แม้ว่าผู้ประกอบการจะยังเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายไม่สูงมากก็ตาม
แต่เลือกที่จะเปิดขายโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ไกลออกไปจากพื้นที่เมืองชั้นใน
หรือเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่ที่อยู่ในซอย หรือถนนสายรอง
แต่จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว
มีจำนวนที่น้อยกว่าช่วงก่อนปีพ.ศ.2563 แบบชัดเจน
เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ลดลง
เส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 และเส้นทางรถไฟใต้ดินในปีพ.ศ.2547
จากนั้นจึงมีส่วนต่อขยายที่ต่อเนื่องจาก 2 เส้นทางข้างต้น และเส้นทางใหม่ๆ มากขึ้นในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง
โครงการคอนโดมิเนียมจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
จนเมื่อราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางมีการปรับเพิ่มขึ้นไปจนสูงมาก
ถ้าจะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมก็ต้องเปิดขายที่ราคาขายไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อตารางเมตร ขึ้นไปถึงมากกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตร
พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง (ในตอนนั้น) ที่ขยายออกไปในพื้นที่นอกใจกลางเมืองได้รับความสนใจมากขึ้น
โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หมอชิต – ท่าพระ และหัวลำโพง – หลักสอง)
ซึ่งมีคอนโดมิเนียมเปิดขายสะสมรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 65,500 ยูนิต
มีหลายพื้นที่ของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีโครงการคอนโดมิเนียมอยู่ในพื้นที่เดียวกันมากกว่า 5 โครงการ
ทั้งในพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 จรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษม
ในขณะที่พื้นที่ตามแนวเสนทางรถไฟฟ้าอื่นๆ เห็นได้ชัดเจนว่ามีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายสะสมน้อยกว่ามากนัก