คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ครั้งที่ 3/2566
โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที
การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 6 ครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2565
และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% เป็น 2.50% ภายในปีนี้
แน่นอนว่าการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแบบนี้ ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ และผู้ซื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน
เพราะธนาคารต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังทั้งผุ้ประกอบการ และคนทั่วไป
การขอสินเชื่อธนาคารสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วๆ ไปก็อาจจะต้องมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น
เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ยอดผ่อนชำระต่อเดือนก็จะเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.2%
ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังรายได้ต่อเดือนที่นำมาพิจารณาการขอสินเชื่อธนาคาร
โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อธนาคารใหม่ ไม่ใช่กลุ่มผู้กู้เดิมหรือกลุ่มที่มีสินเชื่อธนาคารอยู่แล้ว
ซึ่งปัจจุบันเรื่องของการโดนปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารก็มากอยู่แล้ว
โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ไม่มาก ซึ่งมีข่าวว่าโดนปฏิเสธสินเชื่อธนาคารกันมากถึง 30 – 50% แล้วแต่โครงการ
การปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2%
และมีแนวโน้มจะไปที่ 2.5% ภายในปีพ.ศ.2566
น่าจะมีผลให้ธนาคารต่างๆ ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้กันแน่นอน
เพียงแต่จะปรับเพิ่มเท่าไหร่นั้นอยู่ที่นโยบายของแต่ละธนาคาร
ซึ่งการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
มีผลแน่นอนต่อการขอสินเชื่อธนาคาร ซึ่งถ้าธนาคารปรับดอกเบี้ยไม่มาก
ก็อาจจะไม่มีผลอะไร เพราะดอกเบี้ยเพิ่ม 0.25% ยอดผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้นแค่ 500 บาทเท่านั้น
แต่ถ้าเพิ่ม 0.5 – 1.0% ก็มีผลแน่นอน
เพราะผู้ที่ขอสินเชื่อธนาคารมีรายได้จำกัด และคงที่ไม่สามารถปรับเพิ่มได้ตามดอกเบี้ยธนาคาร
ซึ่งถ้าเป็นการขอสินเชื่อธนาคารใหม่ก็อาจจะมีการพิจารณากันละเอียดพอสมควร
ถ้าใครมีรายได้ที่พอดิบพอดีกันยอดขอสินเชื่อก็อาจจะมีปัญหาได้ ถ้าดอกเบี้ยปรับเพิ่ม
เพราะยอดผ่อนชำระจะเพิ่มขึ้น และมีผลต่อการพิจารณารายได้รวมของผู้ขอสินเชื่อแน่นอน