ผมเป็นเด็กตลาดพลู บ้านที่อยู่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่บนถนนเทิดไทที่ต่อเนื่องมาจากตลาดพลู เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลูมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
และจริงๆ แล้วย่านตลาดพลูค่อนข้างมีความหลากหลายนอกจากคนไทย และจีนแล้วยังมีโบสถ์คริสต์ซึ่งตอนนี้มีชาวต่างชาติแวะเวียนมาบ่อยๆ
และอาจจะเห็นขบวนจักรยาน 10 – 20 คันจากโบสถ์คริสต์ปั่นไปตามซอยต่างๆ ซึ่งสามารถลัดเลาะไปถึงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญได้สบายๆ
จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงขอลตลาดพลุน่าจะเห็นได้ชัดเจนตอนสร้างถนนรัชดาภิเษกหรือถนนวงแหวนชั้นในสุดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นถนนรอบกรุงเทพมหานครและเป็นถนนที่ทยอยสร้างให้เกิดการต่อเนื่องกันโดยตลอด
โดยเริ่มที่แยกท่าพระ ผ่านตลาดพลู ไปบรรจบกับถนนที่วิ่งมาจากเชิงสะพานกรุงเทพ ตัดกับถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ช่วงประมาณ 30 กว่าปีก่อนหน้านี้ ถนนรัชดาภิเษกช่วงที่ผ่านตลาดพลูเรียกว่า “รัชดา – ท่าพระ”
ทำให้โรงหนังเก่าแก่ 1 แห่ง คือ โรงหนังศรีนครธนโดนเวนคืนในช่วงปีพ.ศ.2524 และตลาดรอบๆ ก็ต้องหาที่ขายกันใหม่
ถนนรัชดา-ท่าพระเปิดหน้าดินทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ มากขึ้น รวมไปถึงเดอะมอลล์ ท่าพระที่เปิดให้บริการปีพ.ศ.2532
ตลาดพลูในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2530 – 2550 ไม่เหมือนเดิม ความคึกคักค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป จนกระทั่งมีเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้น และการเปิดให้บริการของสถานีตลาดพลูในปีพ.ศ.2556
แต่โครงการคอนโดมิเนียมมีมาก่อนหน้านั้นหลายปีมากแล้ว แม้ว่ามโครงการคอนโดมิเนียมที่อาจจะไม่ได้อยู่ในย่านตลาดพลูแบบ 100% แต่ก็อยู่ในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู ซึ่งเป็นอีก 1 พื้นที่ที่มีคอนโดมิเนียมรวมกันหลายพันยูนิต
ตลาดพลูค่อยๆ กลับมาคึกคักมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารจากพื้นที่หรือทำเลอื่นๆ เข้ามาจับจองพื้นที่กันเยอะแยะมากมาย ทั้งๆ ที่ร้านดั้งเดิมของตลาดพลูมีไม่เกิน 10 ร้าน แต่ตอนนี้น่าจะเกือบๆ 100 ร้านไปแล้ว
ทำให้ถนนเทอดไทช่วงที่ผ่านตลาดพลูจราจรติดขัดโดยเฉพาะตอนเย็นๆ และเสาร-อาทิตย์ มี Youtuber ทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนมาแทบทุกอาทิตย์เลย
ซึ่งเป็นผลดีต่อคนในพื้นที่แน่นอน และคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาอาศัยชื่อเสียงของตลาดพลูก็พลอยได้รับผลดีไปด้วย