กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาในประเทศไทยมีทั้งที่เข้ามาทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา ขาวสะอาด และทุนจีนที่มีที่มาของเงินแบบสีเทา หรือสีดำเลย
แต่เข้ามาในประเทศไทยด้วยเงินทุนจำนวนมาหศาลซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด หรือระบบธุรกิจในประเทศไทย
เพราะบ่อยครั้งที่กลุ่มทุนจีนใช้เงินกว้านซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร พื้นที่สำนักงาน ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์พร้อมขายหรือให้เช่าทันที
เพราะกลุ่มนี้พร้อมจ่ายเงินสดและวางเงินมัดจำล่วงหน้า 6 – 12 เดือนทันที ไม่มีข้อต่อรอง
ซึ่งการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์รูปแบบนี้บางครั้งไม่ได้นำไปทำธุรกิจหรือกิจการอะไรแต่ซื้อเก็บไว้เฉยๆ ก็มี
เรื่องแบบนี้สร้างปัญหาให้กับธุรกิจ ร้านค้าแบบดั้งเดิมของประเทศไทยที่เช่าร้านค้า ตึกแถว ที่ดินมานานต้องมีต้นทุนในการดำเนินกิจการมากขึ้น
ถ้ายังต้องการพื้นที่เดิม หรือทำเลเดิม เพราะเจ้าของต้องการค่าเช่าเพิ่มขึ้นในระดับที่ทุนจีนเสนอมา
ซึ่งถ้าไม่สามารถให้ได้ก็ต้องออกไป แต่บางครั้งเมื่อเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์กลับไม่ได้ทำอะไรปล่อยไว้เฉยๆ หรือใช้เป็นที่เก็บของเท่านั้น
และบางครั้งเช่าทิ้งไว้เพราะต้องการใช้เงินเท่านั้นเอง
กลุ่มทุนจีนบางส่วนลงทุนในธุรกิจอาหารแบบชัดเจน และเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางอย่างแท้จริง เช่น
การเปิดร้านอาหารแบบจีนดั้งเดิมที่ทุกอย่างในร้านมาจากประเทศจีนหมดรวมไปถึงพนักงานในร้านทุกคน อาจจะมีเพียงอาหารสดเท่านั้นที่ซื้อในประเทศไทย และบางครั้งเปิดหลายร้านในบริเวณเดียวกันแต่ใช้ชื่อร้านแตกต่างกันเท่านั้น
เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในกาสร้างรายได้ และเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบ เพราะทุกวันต้องซื้อจำนวนมากให้เพียงพอต่อร้านที่เปิดหลายร้าน
และมีทุนจีนบางส่วนสนใจในธุรกิจผลไม้มีการเข้าไปซื้อสวนผลไม้ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยอาจจะมีการเข้าไปขอซื้อผลไม้ก่อนในเบื้องต้น
จากนั้นยื่นข้อเสนอขอร่วมลงทุนด้วย เมื่อเรียนรู้ระบบงาน เข้าใจในเรื่องของซัพพลายเชนแล้วก็จะเข้าซื้อกิจการ ซึ่งหลายกลุ่มทุนจีนซื้อกิจการตั้งแต่ต้นทาง คือ สวนผลไม้ คนงาน บ้านพัก รวมไปถึงเจ้าของสวนผลไม้เดิมที่กลายเป็นลูกจ้างของกลุ่มทุนจีน ซื้อกิจการไปถึงปลายทางที่เป็นคนรับสินค้าหรือพ่อค้า แม่ค้าก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ
เจ้าของสวนผลไม้ที่ไม่ยอมขายอาจจะทนอยู่ได้ไม่นาน เพราะคนจีนกลายเป็นเจ้าของสวนผลไม้โดยรอบไปแล้ว และอาจจะเสียพันธมิตรทางธุรกิจทั้งระบบขนส่งสินค้า รวมไปถึงพ่อค้าคนกลาง
สุดท้ายแล้วก็ต้องจำใจยอมขายสวนผลไม้ของตนเอง เพราะไม่มีใครที่เข้ามาทำธุรกิจหรือรับซื้อผลไม้ที่สวนอีกแล้วยกเว้นคนของนายทุนจีน
สวนผลไม้จำนวนมากทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้กลายเป็นของคนจีนไปแล้วซึ่งอาจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งในรูปแบบของนิติบุคคล ภรรยาคนไทย และนอมินี
ทุนจีนบางส่วนซื้อ/เช่าแม้กระทั่งแผงขายผลไม้ ผักสดในตลาดขนาดใหญ่ และทยอยขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เพื่อนำสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายในตลาดนั้นๆ รวมไปถึงตลาดอาหารสดต่างๆ