ผังเมืองกรุงเทพมหานครเริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น
หลังจากที่สร้างความลังเลหรือกังวลใจมาก่อนหน้านี้
เพราะจากที่เคยจะประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 และเลื่อนมาตลอดทั้งจากโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร
ล่าสุด นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยทิศทางของผังเมืองกรุงเทพมหานคร ในงานสัมมนาของฐานเศรษฐกิจ
โดยการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 คาดว่าจะประกาศใช้ในปีพ.ศ.2568 โดยผังเมืองฉบับนี้จะขยายการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มค่อนข้างมากโดยเฉพาะโซนฝั่งธนบุรีและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ
พื้นที่สีแดง สีส้ม สีน้ำตาล และสีเหลือง ตามข้อกำหนดในผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4
มีพื้นที่มากขึ้นกว่าผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับพ.ศ.2556
พื้นที่สีขาวทแยงเขียวตามข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่ลดลง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการลดความหนาแน่นของพื้นที่เมืองชั้นใน
โดยถ้าพื้นที่ใดในเมืองชั้นในมีการพัฒนาพื้นที่ถนน ทางสัญจร พื้นที่สีเขียว ที่จอดรถ ที่กักเก็บน้ำ ถนน ทางลัดระหว่างถนนสาธารณะ 2 สาย การจัดให้มีพื้นที่เพื่อการจัดระเบียบทางเท้า สะพานลอยคนข้าม สวนสาธารณะ ทางจักรยานแล้วเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์
หรือมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก และอาคารประหยัดพลังงาน
จะได้ FAR เพิ่มจากที่ได้อยู่แล้วอีก 20%