Home บทความ พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร ครึ่งแรก 2566

พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร ครึ่งแรก 2566

พื้นที่ค้าปลีกประมาณ 45,950 ตารางเมตรเปิดให้บริการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.2566

โดยกว่า 44% เป็นพื้นที่ของคอมมูนิตี้มอลล์ และอีกประมาณ 37% เป็นศูนย์การค้า ที่เหลือเป็นพื้นที่ค้าปลีกในอาคารสำนักงาน โดยที่ประมาณ 56% ของพื้นที่ค้าปลีกที่เปิดให้บริการใหม่เป็นพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง

พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพมหานคร ณ ครึ่งแรกปีพ.ศ.2566 อยู่ที่ประมาณ 6.75 ล้านตารางเมตร โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดพื้นที่ค้าปลีกมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้

เพราะปัจจัยลบที่มีผลต่อการตัดสินใจเช่าพื้นที่ในโครงการพื้นที่ค้าปลีกมีเยอะเกินไป อีกทั้งรูปแบบการซื้อ-ขายสินค้าของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

รูปแบบของการซื้อ-สินค้าออนไลน์เข้ามาแทนที่ในสินค้าหลายประเภท ความถี่ และวัตถุประสงค์ในการเข้าโครงการพื้นที่ค้าปลีกจึงเปลี่ยนแปลงไป

ศูนย์การค้าขนาดใหญ่หรือคอมมูนิตี้มอลล์บางโครงการจึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลางต่อเนื่องเพื่อสร้างความน่าสนใจ

พื้นที่ค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมันกลายเป็นอีก 1 พื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ตามถนนเส้นทางหลักของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล

ก่อนหน้านี้อาจจะมีเพียงร้านสะดวกซื้อที่เป็นผู้ช่าหลัก แต่สถานีบริการน้ำมันที่เปิดให้บริการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และที่กำลังจะเปิดบริการในอนาคตล้วนมีพื้นที่เช่ามากขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับในอดีต

และกลายเป็น 1 ในพื้นที่ที่สามารถเข้ามาซื้อของ ทานอาหาร ซื้อเครื่องดื่ม หรือบริการต่างๆ ได้มากกว่าการเติมน้ำมันเท่านั้น

แม้ว่าศูนย์การค้าจะมีสัดส่วนของพื้นที่รวมมากที่สุดในตลาดพื้นที่ค้าปลีกของกรุงเทพมหานคร แต่ศูนย์การค้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ๆ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก

เช่นเดียวกันกับโครงการค้าปลีกประเภทอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก

มีเพียงพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง แต่ก็มีบ้างที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก

คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึงสเปเชี่ยลตี้ สโตร์ที่ขายสินค้าเฉพาะทางส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก

โดยสำหรับคอมมูนิตี้มอลล์นั้น เจ้าของโครงการต้องการพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์เพื่อรองรับความต้องการของคนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการเดินทางไกลเข้าพื้นที่เมืองชั้นใน หรือพื้นที่รอบใจกลางเมือง

ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ต และสเปเชี่ยลตี้ สโตร์นั้นเป็นรูปแบบโครงการที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ โครงการส่วนใหญ่จึงอยู่นอกพื้นที่ใจกลางเมือง

ห้างสรรพสินค้าเป้นรูปแบบของโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่ไม่มีโครงการใหม่มานานแล้ว

เช่นเดียวกับเอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ หรือโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีโรงภาพยนตร์ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการ ซึ่งไม่มีโครงการใหม่มานานมากแล้ว

โครงการเดิม โครงการเก่าก็เหมือนไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนในอดีต เพราะรูปแบบการเข้าโรงภาพยนตร์ของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไป

ทางเลือกมีเยอะมาก และการไปศูนย์การค้าก็ยังเป็นคำตอบที่สามารถทดแทนได้มากกว่าชัดเจน

ศูนย์การค้าน่าจะเป็นรูปแบบของโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีมายาวนาน และปัจจุบันยังมีโครงการเปิดบริการใหม่ต่อเนื่อง

หรือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ศูนย์การค้าเก่าๆ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2540 หลายแห่ง มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือผังพื้นที่ภายในโครงการ และร้านค้าหรือผุ้เช่ากันมาหลายรอบแล้ว ทั้งการปรับปรุงบางส่วน บางชั้น หรือการปิดทั้งโครงการเพื่อปรับปรุงใหม่หมด

ตอนนี้ก็มีเดอะมอลล์ สาขาบางแค และบางกะปิที่กำลังปรับปรุงใหม่เป็นดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์

ก่อนหน้านี้ ก็มีการทยอยปิดปรับปรุงไปแล้ว เช่น สาขาท่าพระ และสาขางามวงศ์วาน

ส่วนสาขารามคำแหงรื้อถอนทั้งอาคารเพื่อก่อสร้างใหม่เลย เพราะเป็นสาขาที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 โดยโครงการใหม่ที่กำลังก่อสร้างจะมีรูปแบบทันสมัย และพัฒนาตามศักยภาพสูงสุดของที่ดินปัจจุบัน

กลุ่มเดอะมอลล์มีการร่วมทุนกับทางสยามพิวรรธณ์เพื่อพัฒนาโครงการสยามพารากอนที่เปิดบริการปีพ.ศ.2548

กลุ่มเดอะมอลล์ยังมีโครงการใหม่ต่อเนื่องทั้งเอ็มโพเรียม เอ็ม ควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์ รวมไปถึงแบงค็อกมอลล์ด้วย

ศูนย์การค้าอื่นๆ ของเซ็นทรัลก็มีการปรับปรุงต่อเนื่องทั้งเซ็นทรัลลาดพร้าวที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2524 และเซ็นทรัลเวิลด์ที่มาเป็นของเซ็นทรัลในปีพ.ศ.2545 (ไม่แน่ใจเรื่องปี)

ก่อนที่เซ็นทรัลจะเปิดโครงการใหญ่อย่างเซ็นทรัลเวสต์เกท และเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัล รวมไปถึงเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ซึ่งเป็นศูนย์การค้าระดับหรูหราของเซ็นทรัล

จากนั้นปีนี้น่าจะมีเซ็นทรัลเวสต์วิลล์อีกแห่ง และมีการเข้าเทกโอเวอร์สยามฟิวเจอร์จนกลายเป็นเจ้าของเมกาบางนา

ซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ ของบมจ.ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และยืนหยัดผ่านหลายช่วงเวลามาได้ ในขณะที่ศูนย์การค้าอื่นๆ ในทำเลใกล้เคียงยังมีผลงานที่ด้อยกว่า และเข้าซื้อฟิวเจอร์ฯ บางแค จากนั้นปรับปรุงเป็นซีคอน บางแคซึ่งเปิดบริการใหม่ปีพ.ศ.2555

รายใหม่ในตลาดศูนย์การค้าก็เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ที่รุกหนักกับโครงการไอคอนสยามที่ร่วมทุนกับทางสยามพิวรรธน์ โดยทางแมกโนเลียฯ ยังมี 101 ทรูดิจิทัล พาร์คที่มีศูนย์การค้าด้วย

อีกรายที่มาก่อนไอคอนสยาม คือ เทอร์มินัล 21 ของแลนด์แอนด์เฮ้าสที่มี 2 สาขาในกรุงเทพมาหนครแล้ว

การแข่งขันน่าจะลดความร้อนแรงลงแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ค่อนข้างมีศูนย์การค้าครอบคลุมหมดแล้ว