ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวรุนแรง
เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ภาวการณ์มีงานทำ และการใช้จ่ายของคนทั้งโลก
ในประเทศไทยก็เห็นได้ชัดเจนในเรื่องการขาดรายได้ของคนบางกลุ่ม บางอาชีพ หรือมีรายได้ลดลงของคนจำนวนมากในประเทศไทย
ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อกำลังซื้อและการหมุนเวียนของเงินในระบบ รัฐบาลพยายามกระตุ้นผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการออกนโยบายให้คนใช้เงินผ่านนโยบายต่างๆ
โดยที่รัฐบาลช่วยออกด้วยส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ตอนนั้น
การออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในเรื่องของการลดค่าจดจำนอง และค่าโอนกรรมสิทธิ์
รวมไปถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เพื่อให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ซื้อขนาดใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มของผู้ซื้อที่รายได้ไม่มาก
เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับธุรกิจจำนวนมาก และคนอีกไม่น้อย การกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอีกทาง
มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 2 มาตรการที่กล่าวไปแล้วกำลังจะหมดอายุในสิ้นปีพ.ศ.2565
ช่วงเวลา 2 – 3 เดือนสุดท้ายของปีพ.ศ.2565 คาดว่าจะมีการเร่งโอนกรรมิสทธิ์ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการที่ต้องเร่งการก่อสร้าง ตกแต่งหรือทำให้โครงการของตนเองพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้เร็วที่สุด และมากที่สุด
รวมไปถึงการเร่งประชาสัมพันธ์หรือการขายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อและรีบโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงก่อนสิ้นปีพ.ศ.2565 เพื่อให้ทันก่อนที่จะสิ้นสุดทั้ง 2 มาตรการ
ในฝั่งของผู้ซื้อเองก็จำเป็นต้องรีบตัดสินใจเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยให้เร็วขึ้นก่อนสิ้นปีนี้
ถ้าเข้าเกณฑ์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทยกำหนด
โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท นอกจากนี้การซื้อในปีนี้อาจจะยังได้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้แตกต่างจากก่อนหน้านี้มากนัก