ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด
ทั้งจากความต้องการของคนในประเทศ และความต้องการของคนจากประเทศอื่นๆ
ซึ่งมีทั้งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และจากประเทศที่ไกลออกไปในทวีปเอเชีย และไกลออกไปมากกว่านั้นทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกา
โดยกลุ่มของชาวต่างชาติเป็นอีก 1 ปัจจัยบวกสำคัญในตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทย
ซึ่งมีทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจ อุตสาหกรรม ทำงาน เกษียณอายุ
และชาวต่างชาติที่ตั้งใจส่งลูกมาเรียนหนังสือในประเทศไทย จากนั้นค่อยหาช่องทางในการลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทย
เพื่อที่จะได้มีโอกาสอยู่ในประเทศไทยกับบุตรหลานได้
โดยจำนวนของนักเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นปีละ 7% โดยประมาณตั้งแต่ปีพ.ศ.2554 เป็นต้นมา
ในขณะที่จำนวนโรงเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 5% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ซึ่งจำนวนนักเรียนกว่า 70% อยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
เช่นกันกับโรงเรียนนานาชาติกว่า 60% อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
แต่โรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดกลาง และเล็ก โดยโรงเรียนนานาชาติที่สามารถรับนักเรียนได้ 1,500 คนขึ้นไปมีเพียง 10% ของจำนวนทั้งหมด
เรื่องของจำนวนโรงเรียนนานาชาติ และจำนวนนักเรียนในระบบมีมากขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งการเพิ่มขึ้นทั้ง 2 อย่างนั้น เพราะฝั่งของคนที่มีความต้องการส่งบุตรหลานเข้าระบบโรงเรียนนานาชาติมีมากขึ้น
โดยฝั่งของคนไทยที่มีรายได้มากขึ้นหรือคนไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือตอนนี้ก็กว่า 37 ล้านบาทมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รวมไปถึงฝั่งของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในระดับสูงในประเทศไทย
ซึ่งกลุ่มของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
มีทั้งแบบเข้ามาคนเดียวแล้วแต่งงานกับคนไทยจากนั้นก็มีลูกในไทย
กับกลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทยพร้อมครอบครัว
แน่นอนว่าบางครอบครัวอาจจะมีลูก หรือมีลูกเพิ่มในประเทศไทย
กลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องหาโรงเรียนให้กับลูกตนเอง
หรืออาจจะต้องดูและหลาน ญาติที่อาจจะถูกส่งมาเรียนในประเทศไทย
เพราะค่าครองชีพ และค่าเทอมที่อาจจะต่ำกว่าในประเทศตนเอง
แบบที่เห็นในกลุ่มของคนจีน ซี่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา