รูปแบบการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของโครงการอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งโดยทั่วไปต้องเริ่มจากการมีคนเข้าไปในพื้นที่หรือทำเลก่อน การที่คนจะเข้าไปในพื้นที่นั้นมีไม่กี่ปัจจัยแต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ
เรื่องของมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยจำนวนมาก และการมีแหล่งงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของการขยายตัวของที่อยู่อาศัย
อาจจะมีบางทำเลหรือบางพื้นที่ที่มีแหล่งงานประเภทอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัย แต่ก็ไม่มากนัก
การขยายตัวของที่อยู่อาศัยในพื้นที่รอบๆ กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการมีที่อยู่อาศัยของคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
แต่ไม่สามารถซื้อบ้านในราคาที่ขายในกรุงเทพมหานครได้ รวมไปถึงคนในพื้นที่ และคนจากจังหวัดอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่และกรุงเทพมหานคร
จากนั้น เมื่อมีคนมากขึ้นในพื้นที่นั้นๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ จะตามมา โดยเฉพาะโครงการพื้นที่ค้าปลีก
บางทำเลที่การเดินทางสะดวก สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่หรือทำเลอื่นๆ ได้จะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สามารถดึงดูดคนจากพื้นที่หรือทำเลที่ไกลๆ ได้
รวมไปถึงไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ที่อาจจะมีเพื่อรองรับความต้องการของคนในพื้นที่ และคนที่ผ่านไปมา
โดยทั่วไปแล้วการขยายตัวหรือการเปิดให้บริการของโครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่ๆ ในพื้นที่หรือทำเลใดก็ตามมักจะเกิดขึ้นเป็นลำดับท้ายๆ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในอดีตช่วงประมาณ 30 – 40 ปีก่อนหน้านี้ ก่อนที่จำนวนที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมจะมากแบบปัจจุบัน
และยังไม่มีเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามาเป็นตัวแปรในเรื่องของของราคาที่ดิน
การขยายตัวหรือการเปิดให้บริการของโครงการพื้นที่ค้าปลีกมักจะยึดเอาทำเลที่เป็นทางแยกหรือจุดตัดของถนนเส้นทางสำคัญ
โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนที่ตัดใหม่ และถนนที่มีลักษณะเป็นวงแหวนเพราะการเดินทางจะสะดวก
คนจากพื้นที่อื่นๆ สามารถมาใช้บริการได้
ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการมามากกว่า 20 ปีจึงกระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะที่ไม่ไกลจากถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก
หรือในพื้นที่ตามแนวถนนที่ตัดใหม่ หรือถนนที่เชื่อมต่อกับถนนเส้นทางสำคัญ
หรือในพื้นที่เมืองชั้นในในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร
แทบไม่เห็นในทำเลที่อยู่นอกกรุงเทพมหานครเลย