พื้นที่ต่อเนื่องจากบางหว้าที่มีการเปลี่ยนแปลต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้วหยุดไป คือ สี่แยกท่าพระ
เป็นอีกพื้นที่ที่เงียบลงไปในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงมากมายโดยเห็นตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 เป็นต้นมา
คอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่รอบสี่แยกท่าพระตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 – 2564 มีทั้งหมดประมาณ 5,000 ยูนิต
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้คือ สถานีรถไฟฟ้าท่าพระของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นสถานีรถไฟฟ้าร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2 เส้นทางเปิดให้บริการช่วงกลางปีพ.ศ.2562
พื้นที่รอบๆ สี่แยกท่าพระมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นหมายถึงต้องมีการรื้อถอนหรือปรับเปลี่ยนรูปโฉมของพื้นที่ไปแบบสิ้นเชิงจากที่เคยเป็นมา
เพราะการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับราคาที่ดินหรือศักยภาพในปัจจุบันก็จำเป็นต้องมีการรื้อถอนหรือเลิกการใช้ประโยชน์แบบเดิมๆ ไป เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี
เพราะการเปลี่ยนแปลงของทำเลหรือพื้นที่ใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันไปด้วย ทั้งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน หรือรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีพร้อมอยู่แล้ว
กฎหมายหรือผังเมืองต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งผังเมืองกรุงเทพมหานครปัจจุบันและที่กำลังจะประกาศใช้ในอนาคตก็ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้
ปัจจัยสุดท้ายคือ เรื่องของตลาดและกำลังซื้อ โดยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบสี่แยกท่าพระในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมามีแต่โครงการคอนโดมิเนียมเท่านั้น
และบางโครงการที่เปิดขายในราคามากกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตรมีอัตราการขายที่ไม่สูงมากใช้เวลาในการขายนาน ดังนั้น ถ้าเมื่อใดก็ตามที่โครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตรได้รับการยอมรับว่าสามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่โดยรอบ