สี่แยกรัชโยธินมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 เพราะเป็นสี่แยกที่เกิดจากการตัดกันระหว่างถนนพหลโยธิน และถนนรัชดาภิเษกซึ่งในช่วงที่เกิดถนนเส้นนี้ใหม่อาจจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือโครงการอะไรมากมายนัก
มีเพียงอาคารพาณิชย์เพราะเป็นสี่แยกใหญ่ไม่ไกลจากห้าแยกลาดพร้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประชาชื่น เรียกได้เป็นอีก 1 พื้นที่น่าสนใจในช่วง 20 – 30 ปีก่อนหน้านี้
แต่การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการมีอาคารสำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ คอนโดมิเนียมมากขึ้น
โดยช่วงระหว่างปีพ.ศ.2539 – 2540 เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่รอบๆ สี่แยกรัชโยธินมากที่สุด
เพราะมีทั้งเอสซีบีปาร์ค หรือสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการ โดยเอซีบี ปาร์คเป็นโครงการขนาดใหญ่มีมากถึง 4 อาคารพื้นที่รวมกันหลายแสนตารางเมตร
และอาคารสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง ตึกช้าง ซึ่งสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปีพ.ศ.2540
แต่เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงหรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปีพ.ศ.2540 การเกิดขึ้นของพื้นที่สำนักงานมากขนาดนี้จึงไม่มีผลอะไรตามมาแบบที่ควรจะเป็น
นอกจากการจราจรติดขัดเพราะมีคนเข้ามาทำงานในพื้นมากขึ้น ประกอบกับการที่สี่แยกรัชโยธินเป็นส่วนหนึ่งของถนนวงแหวนชั้นในสุดของกรุงเทพมหานครจึงมีสะพานข้ามแยกรัชโยธินขึ้นเพื่อให้รถยนต์สามารถข้ามแยกนี้ไปมาได้แบบสะดวกไม่ต้องติดไปแดงที่แยกนี้
แต่มีผลให้พื้นที่ด้านล่างถูกมองข้ามไปจึงเหมือนเป็นการชะลอการขยายตัวไปด้วยส่วนหนึ่ง
สี่แยกรัชโยธินเริ่มเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอีกครั้งแบบชนิดที่มีความน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้นหลังจากมีคอมมูนิตี้มอลล์ในปีพ.ศ.2551 อย่าง เมเจอร์รัชโยธิน
จากนั้นจึงเริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นหลังจากนั้น และมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน