การขอสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปีนี้จึงอาจจะดูเหมือนไม่ง่าย ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ง่ายมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ประกอบการ
ซึ่งเมื่อกำลังซื้อในตลาดไม่ดี ยอดขายหรือยอดจองไม่สูงมาก การขอสินเชื่อธนาคารเพื่อพัฒนาโครงการก็ทำได้ยากขึ้น
ผู้ประกอบหลายรายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีทางเลือกอื่นๆ ในการหาเงินทุนมาพัฒนาโครงการหรือหมุนเวียนในบริษัทจึงเลือกวิธีการออกหุ้นกู้
แม้ว่าการออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น และมากกว่าดอกเบี้ยธนาคาร แต่การได้เงินมาหมุนเวียนที่รวดเร็วกว่า ขั้นตอนในการตรวจสอบไม่มาก และนำมาหมุนเวียนในโครงการของตนเองได้สะดวก
เวลาใช้คืนก็มีกำหนดที่ตายตัวอยู่แล้วทั้งในเรื่องของระยะเวลา และดอกเบี้ย ผู้ประกอบการมีหน้าที่แค่หารายได้มาชำระเมื่อครบกำหนดก็เรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรแล้ว
ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายรายออกหุ้นกู้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวกันมากมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นบางรายเท่านั้นที่เป็นข่าวว่าผิดนัดชำระหุ้นกู้ แต่รายอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถจัดการได้แบบไม่มีปัญหา
แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ และทิศทางของกำลังซื้อที่ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ตอนปีที่แล้ว จึงเริ่มมีความวิตกกังวลว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องหุ้นกู้ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาอาจจะใหญ่กว่าที่ผ่านมา
เพราะจำนวนของหุ้นกู้ในตลาดที่ออกจากผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นมีไม่น้อย
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของหุ้นกู้นี้ก็อาจจะมีปัญหาไม่มากหรือไม่มีปัญหาอะไรเลยก็ได้ เพราะผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ขาดแคลนเงินสด หรือไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทขนาดนั้น
เพียงแต่การออกหุ้นกู้เป็น 1 ในวิธีการใช้เงินคนอื่นเพื่อนำมาสร้างรายได้ให้กับบริษัทเท่านั้น
บางบริษัทที่มีปัญหาเรื่องของการผิดชำระหุ้นกู้ยังคงดำเนินกิจการอยู่ และมีการออกมาชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบต่างๆ
แต่บางบริษัทเงียบหายไปเลย โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีคนเดือดร้อนหลายคน แต่มีแค่มีจดหมายชี้แจงหรือว่าแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
และอาจจะมีเรื่องของการขายที่ดิน หรือโครงการต่างๆ ที่ไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ได้
การผิดนัดชำระหุ้นกู้หรือดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งนั่นแสดงให้เห็นถึงปัญหาภายในบริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขได้แบบชัดเจนแล้ว และคงไม่สามารถหาเงินมาหมุนเวียนหรือชำระอะไรต่างๆ ได้แน่นอน
เพราะขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว ไม่ต้องหวังในเรื่องของการขายคอนโดมิเนียมหรือบ้าน ขอสินเชื่อธนาคารก็คงไม่ได้แน่นอน
ทำได้อย่างเดียว คือ การหารายได้จากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ต้องผ่านกลไกของตลาดหลักทรัพย์ เช่น กรรมการของบริษัท หรือนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม
ถ้าการระดมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาทำไม่ได้ ก็อาจจะเห็นการปิดกิจการของบริษัทที่มีปัญหาในรูปแบบนี้ในอีกไม่นาน ซึ่งการปิดบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจอื่นๆ
เพราะเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก ไม่เพียงแต่คนที่ซื้อหุ้น หรือหุ้นกู้เท่านั้น
เนื่องจากยังมีคนจำนวนมากที่ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมแล้วยังไม่ได้บ้านหรือคอนโดมิเนียมทั้งที่มีการจ่ายเงินบางส่วนให้กับบริษัทไปแล้ว
รวมไปถึงบริษัท ห้างร้านที่ส่งของหรือทำธุรกิจกับบริษัท
ยังรวมไปถึงพนักงานหรือคนที่เกี่ยวข้องในบริษัท ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ได้เงินในส่วนที่ต้องได้ทันทีที่บริษัทปิดตัวลง หรือหยุดดำเนินกิจการไปแบบเงียบๆ