โครงการมิกซ์-ยูส น่าจะเป็นอีก 1 รูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการพูดถึง และพัฒนากันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโครงการมิกซ์-ยูสมีการพัฒนากันมาก่อนหน้านี้นานมากแล้ว บางโครงการมีมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2530 ซะอีก
โครงการมิกซ์-ยูสในกรุงเทพมหานคร – ปริมณฑล มีโครงการใหม่เปิดให้บริการทุกปีในช่วงที่ผ่านมา มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่ภาวะเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ
เพราะการจะพัฒนาโครงการมิกซ์-ยูสบนที่ดินจำเป็นต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน เช่น ผังเมือง ศักยภาพของที่ดิน ขนาดที่ดิน ราคาที่ดิน อุปทาน และอุปสงค์ในพื้นที่นั้นๆ
ซึ่งโครงการมิกซ์-ยูสหลายโครงการอยู่ในทำเลที่ดีมากๆ เช่น พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า หรือสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 สาย เป็นต้น
และหลายโครงการเป็นที่ดินเช่าแปลงใหญ่มากๆ ซึ่งข้อจำกัดของที่ดินเช่าระยะยาว คือ ไม่สามารถพัฒนาเป็นโครงการขายแบบคอนโดมิเนียมได้
ถ้าเป็นที่ดินเช่าระยะยาว และขนาดแปลงใหญ่ๆ สุดท้ายแล้วจะจบลงที่โครงการมิกซ์-ยูสเสมอ
การใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนต่างๆ ในโครงการมิกซ์-ยูสนั้นแตกต่างกัน
เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่มีการใช้ประโยชน์เพียงเพื่อ 1 วัตถุประสงค์ แต่มีมากกว่า 2 การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของโครงการ
ซึ่งโครงการอาจจะเป็นเพียง 1 อาคารเท่านั้นแต่แบ่งการใช้ประโยชน์มากกว่า 2 ส่วนขึ้นไป เช่น อาคารสำนักงานที่มีพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่
หรือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมากกว่า 1 อาคารขึ้นไป และแบ่งการใช้ประโยชน์ตามอาคารต่างๆ ซึ่งอาจจะมีส่วนด้านล่าง 1 – 3 ชั้นหรือมากกว่านั้นเชื่อมถึงกันหมด
การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของโครงการมิกซ์-ยูสที่เปิดเผยโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
เห็นได้ชัดเจนเลยว่าโครงการมิกซ์-ยูสในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่ที่เป็นอาคารสำนักงานมากที่สุด
และในโครงการที่กำลังก่อสร้างก็มีส่วนของอาคารสำนักงานอีกไม่น้อย
ส่วนที่ตามมาเป็นอันดับที่ 2 คือ พื้นที่ค้าปลีกที่ตามมาห่างๆ ทั้งส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และที่กำลังก่อสร้าง
ส่วนของคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดตามมาเป็นอันดับที่ 3
ส่วนโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์อยู่ในอันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
โครงการมิกซ์-ยูสที่เปิดมาแล้วมากกว่า 20 ปีส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานที่มีพื้นที่ค้าปลีกเป็นส่วนประกอบในโครงการ
อาจจะมีบางโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่แยกหลายการใช้ประโยชน์แต่มีอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกเป็น 1 ในนั้น
จึงมีผลให้ทั้ง 2 ประเภทมีพื้นที่รวมที่มากกว่าประเภทอื่นๆ ค่อนข้างมาก