ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ยังคงเห็นข่าวการปิดตัวของโรงเรียนเอกชนหลายระดับการศึกษาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
แม้หลายโรงเรียนจะเปิดมากว่า 50 ปี เพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของโรงเรียนเอกชนที่ลดลงต่อเนื่อง
อนาคตคาดว่าที่ดินเคยเป็นโรงเรียนเอกชนจะทยอยเปลี่ยนมือมากขึ้น เพราะเมื่อไม่ได้เป็นโรงเรียนและยกเลิกใบอนุญาตแล้วก็ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นแรงกดดันใหม่ให้กับเจ้าของที่ดิน
ส่วนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในอดีตอาจแค่รอเวลาที่เหมาะสมในการเลิกกิจการ เพราะรายได้ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการแล้ว โรงเรียนที่มีที่ดินใหญ่โต มีหลายอาคารอาจจะให้เช่าที่ดินหรืออาคารบางส่วนกับบุคคลหรือเอกชนรายอื่นๆ เพื่อหารายได้
ในช่วงที่ผ่านมามีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเอกชนบางส่วนที่เปลี่ยนเป็นโครงการประเภทอื่นๆ เช่น
โรงเรียนอนุบาลดาริกา เป็นโครงการคอนโดมิเนียมของเอสซี แอสเสท
โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์เป็นโครงการคอนโดมิเนียมของเอพี (ไทยแลนด์)
โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา เป็นบิ๊กซี ลาดพร้าว, โรงเรียนอินทรอาชีวะศึกษา เป็นโรงแรมพระยาพาลาซโซ่
โรงเรียนช่างฝีมือปัญจวิทยา เป็นโครงการคอนโดมิเนียมของเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์
โรงเรียนประชาราษฎร์พิทยา เป็นโครงการคอนโดมิเนียมของริชี่เพลซ 2002 เป็นต้น
การประกาศขายหรือบอกขายโรงเรียนระดับต่างๆ ก็มีออกมาต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนพณิชยการสยาม ในพระอุปถัมภ์ฯ อยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ระหว่างซอย 56และ52 อยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ
ซึ่งเลิกกิจการเมื่อปีพ.ศ.2560 และปีพ.ศ.2563 ได้ประกาศขายที่ดินพร้อมอาคารบนที่ดินขนาดกว่า 10 ไร่ ตั้งราคาขาย 650 ล้านบาท
ก่อนที่ล่าสุดจะลดลงมาที่ 450 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากเดิม เนื่องจากที่ดินตั้งอยู่ในซอยแคบมีผลให้มูลค่าที่ดินลดลง เพราะสามารถสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 8 ชั้น ส่วนสาเหตุที่ปิดโรงเรียนและขายที่ดิน เพราะไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ
และคาดว่าจะมีโรงเรียนเอกชนระดับต่างๆ ประกาศขายหรือเลิกกิจการต่อเนื่อง