ช่วงหลายปีที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่หลายแห่ง
ทั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ และโรงเรียนนานาชาติที่ขยายสาขาหลังจากที่มีอยู่ปัจจุบันมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการทางการศึกษาในกรุงเทพมหานครยังคงมีอยู่
แต่ก็สวนทางกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการที่ออกข่าวว่ามีโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศไทยยื่นขอเลิกกิจการจำนวนมาก
โดยคาดว่ามีโรงเรียนเอกชนในระบบปิดกิจการไปแล้วกว่า 43 แห่งในปีพ.ศ.2564
ถ้ารวมกับช่วงก่อนหน้านี้ 2 – 3 ปีน่าจะอีกหลายร้อยแห่ง และมีอีกหลายแห่งที่กำลังจะยื่นขอปิดกิจการอีกจำนวนไม่น้อย
โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจปิดกิจการโรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะในระดับสามัญศึกษาหรือตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมปลาย คือ
เรื่องของจำนวนนักเรียนที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อรายได้ของโรงเรียน
และมีผลต่อการดำเนินกิจการของโรงเรียนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของโรงเรียนเอกชนที่ประสบกับการขาดทุนต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จำนวนเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาลดลงจำนวนประชากรไทยที่เกิดใหม่ในปีพ.ศ.2564 ลดลงจากปีพ.ศ.2554 ประมาณ 251,530 คน และลดลงจากปีพ.ศ.2544 ประมาณ 221,530 คน
เท่ากับว่าช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมาเด็กหายไปจากระบบการศึกษา 221,000 – 251,530 คน
ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อโรงเรียนทุกประเภท แต่โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบมากกว่าโรงเรียนของรัฐบาลเพราะไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล