การที่ผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทนผังเมืองปัจจุบันที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 ยังไม่ได้ประกาศใช้ หลังจากที่เลื่อนมาจากปีก่อนหน้านี้
เพราะทางกรุงเทพมหานครต้องการปรับเปลี่ยนหลายๆ พื้นที่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้วในปัจจุบัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 – 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการนำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มาให้กลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาคมวิชาชีพต่างๆ แสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองฉบับนี้
จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 จึงจะถึงรอบการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนอื่นๆ และประชาชน ซึ่งจากร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในหลายพื้นที่
การเปลี่ยนแปลงในร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่นำมาให้ชมเพื่อรับฟังความคิดเห็น แทบเหมือนฉบับเดิมก่อนที่จะประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเลย
เพราะฉบับร่างเมื่อ 3 – 4 ปีก่อนก็เปลี่ยนแปลงในหลายๆ พื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดินในแต่ละพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ ณ ตอนนั้น เส้นทางรถไฟฟ้าบางเส้นทางยังไม่เสร็จสมบูรณ์
แต่ปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าบางเส้นทางมีการเปิดให้บริการแล้ว และบางเส้นทางมีการก่อสร้างอยู่ในตอนนี้
ซึ่งในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่อาจจะยังไม่ชัดเจน ณ ตอนนี้ แต่เท่าที่ดูการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัดเจนในหลายพื้นที่ว่ามีการเปลี่ยนเปลี่ยนสีของผังเมือง
นั่นหมายความว่ามีการเปลี่ยนศักยภาพในการใช้ประโยชน์ของที่ดินในหลายพื้นที่เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการใหม่ และที่กำลังก่อสร้างอยู่
พื้นที่ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน คือ พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างหรือที่เปิดให้บริการใหม่
แต่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 เป็นผังเมืองสีเหลือง คือ พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการพัฒนาอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ
ในร่างผังเมืองฉบับบปรับปรุงครั้ง 4 มีการเปลี่ยนสีในพื้นที่เหล่านี้เป็นสีส้ม (พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาอาคารมากขึ้น เช่น
พื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ที่เป็นแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งก่อนหน้านี้มีพื้นที่สีส้มบางส่วน และบางส่วนเป็นสีเหลือง แต่ในร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เปลี่ยนเป็น “สีส้ม” ทั้งหมด
พื้นที่ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ประดิษฐ์มนูธรรม รามอินทรา ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวถนนทั้ง 3 เส้นทางจากผังเมือง พ.ศ.2556 เป็นสีเหลืองเปลี่ยนเป็น“สีส้ม”ไปถึงมีนบุรี
ซึ่งพื้นที่นี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู และในอนาคตจะมีสายสีน้ำตาลที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
และในบางพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่สีแดงอยู่แล้วมีการขยายพื้นที่ครอบคลุมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น
มีนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมสถานีปลายทางของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีชมพู
พื้นที่ตามแนวถนนพหลโยธิน และวิภาวดี-รังสิตในช่วงสนามบินดอนเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นสีเหลือง แต่เมื่อมีถนนเส้นทางใหม่อย่างเทพรักษ์ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง และถนนเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดี-รังสิต และพหลโยธิน
ทำให้พื้นที่ตามแนวถนนทั้ง 2 เส้นทางนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะตามแนวถนนพหลโยธินหรือเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้เปลี่ยนเป็นสีส้ม และสีแดงในพื้นที่รอบสถานีดอนเมืองของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งตรงข้ามสนามบินดอนเมืองเพื่อรองรับพื้นที่พาณิชยกรรมในอนาคต
เพียงแต่พื้นที่นี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความสูงอาคารจากเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ สนามบินดอนเมือง พ.ศ. 2540 ทำให้สร้างอาคารสูงไม่ได้