ก่อนหน้าที่จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครนั้นจะพบได้ในฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
โดยมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและโรงแรมกระจายอยู่ตลอดพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนคร
พื้นที่รอบๆ ท่าเรือข้ามฟากตามแนวถนนเจริญนครจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจน
เพราะฝั่งตรงข้ามของพื้นที่ที่มีท่าเรือเหล่านี้เป็นถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเนื่องกับ CBD ของกรุงเทพมหานคร
แต่เมื่อมีสถานีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงดูเหมือนจะมีการกระจุกตัวอยู่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีแบบชัดเจน
จากนั้นเริ่มขยายไปทางตอนเหนือของสะพานสาทรมากกว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของสะพานสาทร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการไอคอนสยามที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองตามมาด้วยนั้น
เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญของพื้นที่ตามแนวถนนเจริญนครในทิศทางตอนเหนือของสะพานสาทร
เพราะโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีโรงแรม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก
แต่การจราจรติดขัดหนักมากจนคนในพื้นที่บ่นกันตลอดเลย
พื้นที่ทางทิศใต้ของสะพานสาทรหรือพื้นที่ในช่วงที่ถนนเจริญนครลอดผ่านสะพานสาทรไปจนถึงจุดสิ้นสุดของถนนเจริญนครที่คลองดาวคะนองนั้น
แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา
อาจจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายบ้างแต่ก็เฉพาะในพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาหรือติดถนนเจริญนครฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
และก็มีเพียงโครงการคอนโดมิเนียมเท่านั้นที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้
อาจจะมีโรงแรมบ้างแต่ก็เป็นโรงแรมที่เปิดให้บริการมานานแล้ว
ร้านอาหารหรือโครงการพาณิชยกรรมอื่นๆ ก็มีไม่มากนัก แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะคึกคักมากขึ้นแน่นอน
เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นโครงการศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุขนาด 19 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และถนนเจริญนคร
มีอาคารสูงรวมกัน 6 อาคาร ทั้งโครงการมีพื้นที่ใช้สอยรวม 220,400 ตารางเมตรรองรับข้าราชการกว่า 7,000 คน
ดังนั้น การมีคนเข้ามาในพื้นที่มากถึงประมาณ 7,000 คนแบบนี้
ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แน่นอนในอนาคต ซึ่งคงต้องดูไปอีกหลายปีก่อนถึงจะเห็นชัดเจน